พระอุมาเทวีหรือ พระศรีมหาอุมา
พระอุมาเทวี (พระศรีมหาอุมา) Meenakshi-deity (Uma) เทวีแห่งพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ เทวีแห่งวาสนาบารมี
พระอุมาเทวี เจ้าแม่อุมา หรือ ปารวตี คือพระนามแห่งพระแม่ผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล เป็นเทวีแห่งอำนาจวาสนาและบารมีอันสูงสุด ทรงเป็นเทวีแห่งความเป็นใหญ่ ความเป็นผู้นำ ยศถาบรรดาศักดิ์ ชัยชนะ ความสำเร็จ ความสูงส่ง พลังอำนาจที่ไร้ขอบเขต ความสมบูรณ์แห่งสตรีเพศ การให้กำเนิด ความเป็นมารดา ทรงเป็นเทวีแห่งความมั่นคง และเทพสูงสุดแห่งนิกายศักติ (Shakti) พระองค์จะทรงประทานยศถาบรรดาศักดิ์ และความเป็นใหญ่แก่ผู้หมั่นบูชาต่อพระองค์อย่างสม่ำเสมอ
ทิพยรูปของพระอุมา ทรงเป็นสาวงาม ฉลองพระองค์สีเขียว น้ำเงิน หรือทอง หลากสีสัน ประดับด้วยทองคำอย่างวิจิตรงดงาม พระองค์ทรงมีเทพศาสตรา คือ ตรีศูล อันหมายถึงพลังในการประหัตประหารสิ่งชั่วร้าย และดาบ ซึ่งมีความหมายเดียวกัน และบางครั้งใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเฉียบขาด เป็นผู้ตัดสิน และอยู่เหนือผู้อื่น จะยกเว้นก็แต่เทวรูปตามศิลปะอินเดียใต้ จะทรงถือดอกบัวเพียง 1 ดอก นอกจากนี้ยังมีสัตว์มงคลประจำพระองค์คือ เสือหรือสิงโต อันหมายถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และความสง่างาม พระองค์ทรงมีพระบุคลิกภาพสง่างาม สูงศักดิ์ ทรงประณีตพิถีพิถัน และเข้าถึงได้ยาก แต่ถึงกระนั้นก็ทรงพร้อมจะพิจารณาความทุกข์ยากต่างๆ และทรงรับฟังคำอธิษฐานเสมอ มักเสด็จโดยลำพัง พอพระทัยในการประทับยังสถานที่อันโอ่อ่า แต่ก็ทรงโปรดเทวาลัยขนาดเล็กที่สร้างด้วยแรงกายแรงใจของผู้นับถือพระองค์เช่นกัน พระอุมาทรงรังเกียจสิ่งชั่วร้าย อำนาจคุณไสยมนต์ดำทุกชนิดทุกประเภท หากผู้บูชาเข้าไปเกี่ยวข้องเมื่อใด พระองค์จะทรงละทิ้งทันที
เทวปกรณ์โดยทั่วไปกล่าวว่าพระอุมาทรงเป็นพระชายาของพระศิวะ เป็นมารดาแห่งพระพิฆเนศ พระอุมาจึงเป็น 1 ใน 3 แห่งพระตรีศักติ ด้วย (ตรีศักติ หมายถึง พระแม่ทั้งสาม ได้แก่ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวดี) พระองค์มีวิมานสถิต ณ เขาไกรลาส เช่นเดียวกับพระศิวะเทพ มีสัญลักษณ์ประจำพระองค์คือ โยนี (ฐานรองศิวลึงก์) นอกจากนี้ยังทรงปรากฏพระองค์ร่วมกับพระลักษมีและพระสรัสวดี ในการบูชาตามคติเอกานุภาพ และปรากฏพระองค์ร่วมกับพระคเณศ (พระพิฆเนศ) พระลักษมี พระสรัสวดี และพระสกันท์ ในภาคที่เรียกว่าทุรคา (Durga) ส่วนตามหลักพุทธคติ มีผู้พยายามยืนยันว่าพระอุมาทรงมีความเกี่ยวข้องกับพระแม่กวนอิมโพธิสัตว์ ซึ่งไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วพระองค์ทรงเป็น 1 ในเทพธรรมบาลของศาสนาพุทธนิกายวัชรยานฝ่ายทิเบต
ตำนานพระอุมาเทวี
ตามตำนานโบราณกล่าวกันว่า “พระอุมา ” นั้น แต่เดิมถือกำเนิดขึ้นจากการที่พระศิวะใช้พระหัตถ์ข้างขวาลูบเบาๆ ที่กลางพระอุระ พระอุมาจึงจุติขึ้นกลางทรวงอกของพระศิวะ บ้างก็เล่าว่าพระอุมาเทวีเป็นธิดาของ ท้าวหิมวัต และพระนางเมนกา เทพผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขาหิมาลัย แต่ในบางคัมภีร์ก็กลับกล่าวว่าพระอุมาเป็นธิดาของ พระทักษะประชาบดี และเป็นน้องสาวของพระแม่คงคา โดยพระอุมาในภาคนั้นมีพระนามว่า พระสตี เป็นชายาของ พระมุนีภพ (พระศิวะอีกภาคหนึ่ง)
ดังจะตัดทอนเรื่องราวก่อนกำเนิดเป็นพระแม่อุมาเทวี ซึ่งได้ปรากฏเป็นเรื่องเล่าขานกัน เริ่มต้นจากความจงรักภักดีต่อพระสวามี (พระศิวะ) โดยพระนางได้ใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้ไฟเผาไหม้ตนเอง ซึ่งตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า พระศิวะทรงอวตารลงมาในภาคของมุนีภพ แต่ครั้งนี้พระองค์ทรงอวตารลงมาในชุดนุ่งห่มแบบปอนๆ มอซอ และมีสังวาลสวมคอเป็นประคำโดยนำกระดูกมาร้อยต่อกัน ไว้ผมหนวดเครารุงรัง ชอบนอนตามป่าช้า ร่างกายมีกลิ่นตัวเหม็นสาบ (แตกต่างจากการแบ่งภาคอื่นๆ) เพื่อเสริมสร้างบารมี ด้วยการบำเพ็ญตน บำเพ็ญตบะ ซึ่งกาลต่อมาด้วยบุญกรรมที่สร้างสมกันมาแต่ก่อน ทำให้พระนางสตีมองเห็นรูปกายที่แท้จริงว่าพระมุนีภาพองค์นี้ก็คือ ภาคหนึ่งแห่งองค์พระศิวะผู้เป็นผู้ใหญ่ในสามโลก พระนางสตีจึงตกลงใจอยู่คอยรับใช้ดูแลในฐานะชายา ฝ่ายพระทักษะประชาบดีมิได้เห็นด้วยกับความคิดของพระนางสตีนัก ทรงแสดงความรังเกียจในการกระทำ ทั้งรูปร่าง การแต่งกายของพระมุนีภพมาโดยตลอด พระทักษะประชาบดีนั้นมีพระธิดามากมายนัก และก็มากด้วยราชบุตรเขยเช่นกัน เป็นต้นว่า พระจันทร์ พระยมราช และพระมุนีอีกจำนวน 11 องค์ ซึ่งทุกพระองค์ล้วนแล้วแต่มีอิทธิฤทธิ์บารมีทั้งสิ้น ฝ่ายบรรดาราชบุตรเขยต่างๆ ก็คอยเอาอกเอาใจผู้เป็นพ่อตาอยู่เป็นนิจตลอดมา เว้นก็แต่พระมุนีภพผู้เป็นสวามีพระนางสตีเท่านั้น ที่ไม่เคยเข้ามาเอาใจเลย จึงเป็นเหตุผลอีกกรณี ที่ทำให้พระทักษะประชาบดียิ่งไม่พอใจมากยิ่งขึ้นไปอีก
กระทั่งวันหนึ่งพระทักษะประชาบดีต้องการจัดพิธียัญกรรม โดยพิธีการนี้ได้เชิญเหล่าเทพต่างๆ บนสวรรค์ พร้อมทั้งเหล่าราชบุตรเขยเข้าร่วมในพิธีกรรมนี้ทุกองค์ ยกเว้นพระมุนีภพเพียงพระองค์เดียว ที่ไม่ได้ให้เข้าร่วมพิธียัญกรรมในครั้งนี้ด้วย ด้านพระนางสตีเมื่อได้ฟังดังนั้น จึงเข้าสอบถามกับผู้เป็นบิดาถึงเรื่องนี้ ว่ามีเหตุอันใดจึงไม่เชิญพระสวามีของตนให้เข้าร่วมพิธียัญกรรม ฝ่ายผู้เป็นพ่อแรกๆ ก็กล่าวถึงการกระทำ การแต่งกายของพระมุนีภพว่าไม่เหมาะสมและพูดจาดูหมิ่น ดูถูกพระมุนีภพในทางที่เสียหาย ซึ่งทุกสิ่งที่กล่าวได้กระทำต่อหน้าราชบุตรเขยองค์อื่นๆ ที่มาร่วมในงานนี้ แต่พระนางสตีก็อ้อนวอนต่อบิดา ให้พระสวามีของตนได้เข้าร่วมในพิธีนี้ จนพระทักษะประชาบดีเกิดความรำคาญเป็นยิ่งนัก จึงกล่าววาจาด้วยเสียงอันดัง ต่อหน้าผู้เข้ามาร่วมในพิธีด้วยความดูหมิ่น รังเกียจต่อพระมุนีภพยิ่งนัก จนในที่สุดพระนางสตีผู้จงรักภักดีต่อสวามีของตน สุดที่จะทนต่อไปได้ ในวาจาที่รับฟังจากพระบิดาตนเองที่กล่าวประจานพระมุนีต่อหน้าผู้อื่น พระนางสตีจึงตัดสินพระทัยแสดงอิทธิฤทธิ์ เปล่งแสงเปลวไฟอันร้อนแรงจากภายในกาย จนเผาตนเองมอดไหม้ต่อหน้าพระบิดาและผู้ร่วมพิธี จนสิ้นชีพในที่สุด (บางคัมภีร์กล่าวไว้ว่าพระนางสตีกระโดดเข้ากองไฟในพิธี) ฝ่ายพระศิวะในภาคพระมุนีภพ เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าจากพระฤๅษีนารท (ฤาษีนารอด) ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระชายา พระองค์ทรงเศร้าเสียใจเป็นที่สุด จากความเศร้าที่ทรงมีอยู่นั้น จึงทรงดึงเส้นผมออกมาปอยหนึ่ง ก็บังเกิดเป็นอสูรร่างกายใหญ่โต มีฤทธิ์เดชมากมาย มีพันเศียร พันกร สวมประคำหัวกะโหลกและงู นามว่า อสูรวีรภัทร
บางคัมภีร์ก็ได้กล่าวว่าอสูรวีรภัทรนี้ แบ่งภาคโดยออกจากพระโอษฐ์ของพระศิวะ แล้วพระศิวะจึงได้สั่งให้อสูรวีรภัทรไปยังพิธีที่จัดขึ้นและให้ทำลายพิธีนั้นให้สิ้นในที่สุด ฝ่ายอสูรวีรภัทรเมื่อรับฟังคำสั่งจึงตรงไปยังพิธีทันที พร้อมด้วยเหล่าสมุนยักษ์นับพัน เมื่อไปถึงจึงเข้าอาละวาดทำลายพิธี และบรรดาเทพทั้งหลายที่มาร่วมงานต่างก็หลบหนีทันบ้างไม่ทันบ้าง ต่างบาดเจ็บล้มตายไปมากมาย ด้านอสูรวีรภัทรเมื่อทำลายพิธีแล้ว จึงได้ประกาศในพิธีว่านี่คือโทษที่ต้องได้รับจากพระศิวะ ส่วนพระทักษะประชาบดีบิดาของพระสตีได้ถูกอสูรวีรภัทรพ่นไฟใส่พระเศียรจนขาดกระเด็น และสูรวีรภัทรได้นำเศียรนั้นโยนเข้ากองไฟให้มอดไหม้ด้วยความแค้นที่ดูหมิ่นในศักดิ์ศรีของพระศิวะ เมื่อทุกอย่างเสร็จตามคำบัญชาของพระศิวะ อสูรวีรภัทรพร้อมสมุนยักษ์จึงยกทัพกลับไปเข้าเฝ้าพระศิวะดังเดิม
เหตุการณ์นี้ทำให้เหล่าเทพทั้งหลาย รวมถึงบรรดาราชบุตรเขยที่รอดชีวิตมาได้ พากันไปขอความช่วยเหลือจากพระพรหม เพื่อให้ทรงแนะหาทางแก้ไขว่าควรจะทำเช่นไรจึงจะทุเลาความโกรธกริ้วของพระศิวะได้ เพื่อไม่ให้โลกถูกทำลายลงไป เพราะพระศิวะเป็นเทพผู้ทำลาย พระพรหมเมื่อได้ฟังแล้วจึงได้นำเหล่าเทพทั้งหลายนั้นไปเข้าเฝ้าพระศิวะยังเขาไกรลาส เพื่อขอความเห็นใจและขมาในสิ่งที่เกิดขึ้น จนในที่สุดการเจรจาพูดคุยกันนั้น พระศิวะจึงยอมสงบศึกพร้อมกับช่วยชุบชีวิตเหล่าเทพที่ได้เสียชีวิตใน เหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งนี้การชุบชีวิตนั้นก็รวมถึงพระทักษะประชาบดีผู้เป็นพ่อตาของพระองค์ด้วย แต่เศียรที่มอดไหม้ไปนั้นมิได้ทรงนำมาคืนให้ พระองค์ได้นำหัวแพะมาต่อให้กับพระทักษะประชาบดี เพื่อแสดงให้เหล่าเทพทั้งหลายได้เห็นความโง่ของพระทักษะประชาบดี แม้แต่รูปกายภายนอกจะเป็นเช่นไร ก็ไม่สมควรดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามผู้นั้นโดยมิได้ดูถึงเนื้อแท้และการกระทำที่ดีของเขาเลย เมื่อเรื่องทุกอย่างจบลงด้วยดีแล้ว พระศิวะจึงมุ่งไปบำเพ็ญตบะ บำเพ็ญตนเป็นมุนีต่อในป่าหิมพานต์ เพื่ออุทิศกุศลให้กับพระนางสตี ผู้เป็นชายาของพระองค์ต่อไป
หากแต่บางตำนานได้กล่าวแตกต่างกันในตอนจบว่า พระศิวะทรงส่งอสูรชื่อวีรภัทรไปทำลายงานพิธี และตัดศีรษะพระทักษะประชาบดี ต่อคืนด้วยหัวแพะที่ใช้บูชายัญในพิธีนั้น พระศิวะทรงเศร้าโศกเสียใจด้วยความรักที่มีต่อพระนางสตี จึงทรงทรงพาร่างของพระนางสตีออกไปจนสุดจักรวาล และบำเพ็ญพรตบารมีอยู่เป็นเวลานาน ต่อมาพระนางได้กลับมาเกิดเป็นธิดาของท้าวหิมวัตและพระนางเมนกา และเป็นชายาของพระศิวะอีกครั้ง ในร่างของพระอุมาเมวี (ปารวตี)
กำเนิดพระอุมาเทวี (ชายาแห่งพระมหาศิวะเทพ)
หลังจากที่พระนางสตีที่ได้สละชีวิต ปกป้องศักดิ์ศรีแห่งพระศิวะเทพผู้สวามี ด้วยการใช้ไฟเผาไหม้ร่างกายตนจนสิ้นชีพ ในกาลต่อมาพระศิวะเทพจึงได้เข้าสู่การบำเพ็ญสมาธิ โดยมิได้ติดต่อผู้ใดเป็นระยะเวลานาน จนบรรดาทวยเทพทั้งหลายล้วนพากันเป็นกังวลถึงความเป็นไปของจักรวาล จึงได้รวมตัวกันเข้าเฝ้าพระวิษณุเทพเพื่อขอให้หาหนทางแก้ไขเรื่องดังกล่าว ซึ่งพระองค์ได้ดำริว่าคงต้องช่วยกันนั่งสมาธิส่งจิตถึงพระแม่ศักดิ-ศิวา ขอให้พระองค์ทรงอวตารแบ่งภาคมาเกิดบนโลกมนุษย์อีกครั้ง เพื่อให้พระศิวะทรงออกจากสมาธิกลับมาปกครองจักรวาลแห่งนี้ พระอุมาจึงถือกำเนิดในคืนที่ 9 เดือนมธุ (มีนาคม – เมษายน) ตั้งแต่แรกเกิดพระอุมาทรงเป็นที่รักยิ่งของทุกๆ คน จึงได้นามว่าพระปารวตี
ต่อมาเมื่อเติบใหญ่ พระอุมามีความตั้งใจยิ่งที่จะออกบำเพ็ญพรต เมื่อได้ศึกษาวิชาจากพระอาจารย์ต่างๆ จนชำนาญเก่งกาจมีความสามารถระลึกชาติได้ (เมื่อเยาว์วัย พระฤาษีนารทได้ทำนายชะตาไว้ว่า พระอุมานั้นทรงมีลักษณะมงคลยิ่งนักและจะนำความสุขมาสู่ครอบครัว คู่ครองของพระนางจะมีลักษณะเป็นโยคีนุ่งห่มหนังเสือหนังช้าง) ดังนี้แล้ว ท้าวหิมวัตและพระนางเมนกาตระหนักดีว่าการทำนายของพระฤาษีนารท (พระฤาษีนารอด) แม่นยำยิ่งนัก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีหนทางใดที่จะนำพระอุมาธิดาแห่งตนให้พบกับพระศิวะเทพได้ ด้วยว่าพระศิวะเทพทรงอยู่ในระหว่างการบำเพ็ญตนเข้าสมาธิ
ถึงกระนั้นด้วยวาสนาของการเป็นคู่ครองกันในอดีตชาติ ในช่วงเวลาที่พระศิวะทรงเสด็จไปยังดินแดนอิษชิปรัสกะเพื่อทำสมาธิ ท้าวหิมวัตจึงทรงเสด็จเข้าเฝ้า กล่าวสรรเสริญขออุทิศตนเป็นทาสรับใช้ของพระศิวะเทพ จนพระองค์พอพระทัยยิ่งจึงลืมพระเนตรออกจากสมาธิ และกล่าวขอให้ท้าวหิมวัตช่วยจัดสถานที่นั่งสมาธิ ณ คงคาวัตวัณในแคว้นหิมาลัย และสั่งห้ามมิให้ใครเข้ามารบกวนในที่นั่นเป็นเด็ดขาด ท้าวหิมวัตจึงได้ทำตามพระประสงค์ จนรุ่งเช้าท้าวหิมวัตจึงพาพระอุมาให้นำผลไม้ถวายต่อพระศิวะ พร้อมทั้งกล่าวว่าขอให้พระองค์ทรงรับพระประวัติเป็นข้ารับใช้ด้วย เมื่อพระศิวะลืมพระเนตร เห็นความงดงามของพระอุมา จึงเกิดความรักและพอพระทัยยิ่งนัก แต่ก็ทรงหักพระทัยเข้าสู่สมาธิโดยทันที เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น ท้าวหิมวัตจึงสวดอ้อนวอน เพื่อให้พระศิวะลืมพระเนตรอีกครั้งและกล่าวว่าในทุกๆ วัน ตนและธิดาจะมาเป็นผู้เคารพบูชาพระองค์ พระศิวะจึงกล่าวตอบกับท้าวหิมวัตว่า เหตุที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการบำเพ็ญสมาธิคือสตรี ซึ่งผู้บำเพ็ญตนที่ดีอาจถูกทำลายสมาธิลงได้ สตรีคือฐานแห่งความรักใคร่ความสำราญ สตรีจะเป็นผู้ทำลายสิ้น พระอุมาจึงกล่าวแสดงความเคารพต่อองค์ศิวะ และทูลอย่างสุภาพว่า พระศิวะคือจ้าวแห่งสมาธิกรรมฐานเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดแห่งจักรวาล ไม่มีการโอนเอนต่อพลังที่เหนือธรรมชาติ แล้วใยจึงเกรงกลัวต่อสตรีอย่างพระนางด้วย พระศิวะเมื่อได้ฟังจึงต้องยอมจำนนกับคำโต้ตอบ และได้อนุญาตให้พระอุมาและสหายของพระนางเข้าออกได้ เพื่อรับใช้ตามที่ต้องการ ส่วนพระอุมาก็ได้เข้ารับใช้มหาเทพด้วยการล้างพระบาทและดื่มน้ำนั้นเป็นประจำ ถวายการรับใช้อย่างไม่ย่อท้อ พร้อมทั้งขับกล่อมบทเพลงแสดงความเคารพต่อพระศิวะเรื่อยมา
พระศิวะเทพปฏิบัติสมาธิด้วยโดยปฏิญาณไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นคู่ครองจะต้องเป็นโยคินีด้วย จึงจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ ฝ่ายฤาษีนารทจึงแนะนำให้พระอุมาบำเพ็ญตนที่คงคาวัตวัณเป็นเวลาสามพันปีเทพ โดยฤดูร้อนให้ก่อไฟรายล้อม และสวด “โอม นะมัส ศิวายะ” ส่วนในฤดูฝนให้นั่งบนผืนดินปล่อยให้กายชุ่มน้ำฝน และให้สำรวมจิตเป็นที่ตั้ง ในฤดูหนาวให้ประทับในน้ำเพื่อทำสมาธิต่อพระศิวะ ปีแรกให้ทานผลไม้ ปีต่อมาเป็นผักและใบไม้ ปีที่สามอดอาหารและทำสมาธิอย่างเดียว สิ่งที่พระอุมาปฏิบัตินี้ พระศิวะเทพผู้มองเห็นการกระทำจึงพอพระทัยนักในฐานะโยคินี แต่พระองค์ต้องพิสูจน์ในความมั่นคงของพระอุมาด้วย จึงให้ฤๅษีเข้าทำลายความตั้งมั่นของพระอุมา ฝ่ายพระอุมาก็ทรงยึดมั่นต่อพระศิวะมิอาจเปลี่ยนแปลงความตั้งใจของตนลงได้ จนพระศิวะแปลงเป็นพราหมณ์เฒ่ามากล่าวด้วยวาจาต่างๆ เพื่อให้จิตใจสั่นคลอน แต่ก็มิเป็นผล สุดท้ายพราหมณ์เฒ่าจึงกลับกลายเป็นพระศิวะเทพต่อหน้าพระอุมา และกล่าวคำรับนางเป็นคู่ครอง และได้เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรส พระศิวะและพระแม่อุมาจึงเป็นเทพคู่ครองกันแต่นั้นเป็นต้นมา…
เชื่อกันว่าอำนาจแห่งพระอุมานั้น ยิ่งใหญ่หาสิ่งใดเทียบเทียมได้ ทรงมอบอำนาจวาสนาและความเป็นใหญ่ให้แก่ผู้บูชา ทรงประทานชัยชนะเหนือศัตรู ประทานกำลังวังชาความสามารถเพื่อทำกิจต่างๆ ให้ลุล่วง ทรงทำลายสิ่งชั่วช้าชั่วร้าย คนชั่ว และผู้เบียดเบียนชีวิตของผู้บูชา ตลอดจนประทานบริวาร อำนาจในการปกครอง และบารมีแก่ผู้หญิง พระองค์ยังทรงประทานพรด้านความสมบูรณ์ ความอิ่มเอม ความผาสุกในการครองเรือน ครอบครัวที่เปี่ยมสุข ประทานบุตรที่ดี รวมทั้งประทานปัจจัยที่เพียบพร้อมในการเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตขึ้นเป็นคนดี ทรงคุ้มครองหญิงตั้งครรภ์ให้คลอดง่าย ตลอดจนการคุ้มครองผู้ศรัทธาให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ทรงดลบันดาลให้ผู้บูชาได้รับความนับถือศรัทธา การยำเกรงจากผู้คนทั่วไป ทรงให้การช่วยเหลือผู้ประพฤติดีเสมอ
พาหนะแห่งพระแม่อุมาเทวี คือ
-เสือ อันหมายถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และความสง่างาม
ศาสตราวุธ แห่งพระแม่ อุมาเทวี คือ
– ตรีศูล เป็น สัญลักษณ์แห่งการปราบปรามสิ่งชั่วร้าย และ
– ดาบ คือสัญลักษณ์แห่งความเฉียบขาด เป็นผู้ตัดสิน และอยู่เหนือผู้อื่น
การบูชาพระอุมา
โต๊ะหรือแท่นที่ประดิษฐานบูชาสำหรับพระอุมาเทวีนั้น ควรปูด้วยผ้าสีขาว สีเขียว สีน้ำเงิน สีทอง ผ้าลายทอง (หากไม่มีผ้าสำหรับปู สามารถใช้สีทาได้) แต่หากเป็นการประดิษฐานในเทวาลัย ควรเป็นเทวาลัยสีทองหรือตกแต่งด้วยสีทอง เครื่องบูชาควรเป็นโลหะสีทอง แต่ถ้าเป็นการประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชา ควรใช้โต๊ะหมู่สีเข้มหรือสีดำลายทอง หรือโต๊ะหมู่ลงรักปิดทอง ส่วนสัตว์มงคล อันได้แก่ เสือหรือสิงโต ควรเลือกถวายอย่างใดอย่างหนึ่ง และเพียงตัวเดียว นอกจากนี้ควรทำด้วยโลหะสีทองหรือสีเลียนแบบธรรมชาติ
สุคนธบูชาสำหรับพระอุมานั้น พระองค์ทรงโปรดดอกไม้ที่มีสีเหลือง และ สีแดง โดยเฉพาะดอกดาวเรือง ดอกกล้วยไม้ ดอกกุหลาบ ส่วนธูปหอมหรือกำยาน ควรใช้กลิ่นดอกกุหลาบ กลิ่นไม้กฤษณา กลิ่นไม้จันทน์ และควรจุดน้ำมันหอมระเหยถวายบ่อยๆ โดยน้ำมันหอมที่ควรใช้ คือ น้ำมันกุหลาบ น้ำมันจันทน์ น้ำมันกระดังงา
เครื่องสังเวยสำหรับถวายพระอุมา ควรเป็นขนมที่ปรุงอย่างประณีตพิถีพิถัน ตกแต่งอย่างสวยงาม จัดขึ้นอย่างสวยงาม ไม่เน้นรสชาติหรือกลิ่นเป็นพิเศษ แต่ควรหลีกเลี่ยงขนมมันจัด สามารถนำขนมโมทกะ หรือขนมลาดู (ขนมชนิดเดียวกับที่ถวายพระพิฆเนศ) มาถวายก็ได้เช่นกัน ตลอดจนผลไม้ และธัญพืชทุกชนิด
เทศกาลสำคัญแห่งการบูชาพระอุมาเทวี คือ เทศกาลนวราตรี (Nava ratri) ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 11 โดยในประเทศอินเดียจะมีการประกอบพิธีบูชาพระมาเทวีในอวตารต่างๆ อย่างยิ่งใหญ่ วันละ 1 ปาง เรียงตามลำดับคือ มหากาลี , ทุรคา หรือมหิษาสุรมรรทินี , จามุณฑา , กาลี , นันทา , รักธาฮันตี , สัคคมพารี , ทุรคา และลัคภรมารี เพื่อระลึกถึงการประหารอสูรที่สำคัญต่างๆ ระหว่างนี้ผู้บูชาจะต้องถือพรต กินอาหารมังสวิรัติ บางท้องที่ต้องถือศีลอด มีการถวายเครื่องสังเวยอย่างอลังการ สรงน้ำองค์เทวรูป สวดมนต์บูชาตลอดวันตลอดคืน และในวันที่ 9 จะมีการอัญเชิญเทวรูปสำคัญออกจากเทวาลัยไปแห่แหนรอบเมืองให้ประชาชนได้สักการบูชาด้วย
นอกจากการกระทำการสักการบูชาแล้ว เรายังสามารถประกอบกุศลเพื่อถวายกุศลบูชาแด่พระอุมาเทวีได้อีกด้วย อาทิ การบริจาคเงินหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมขององค์กร มูลนิธิ รวมทั้งการรักษาพยาบาลในด้านที่เกี่ยวกับครอบครัว ผู้หญิง และเด็ก การบริจาคเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ ยารักษาโรคแก่ผู้ด้อยโอกาสและผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยทุกอย่างจะต้องกระทำขึ้นด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์เท่านั้น
คาถาบูชาพระแม่อุมาเทวี
มีหลายบท ให้เลือกสวดบทใดบทหนึ่ง (หรือสวดทั้งหมด)
ข้อควรจำ : ก่อนการสวดบูชาพระแม่อุมาเทวี จะต้องสวดมนต์ต่อพระพิฆเนศก่อนเสมอ
– โอม เจ มาตา กี
– โอม ชยะ มาตา กี
– โอม ไชย มาตา กี
– โอม ชยะ ศรี ปารวตี มาตา
– โอม ไจ มาตา ปารวตี
– โอม มหาอุมาเทวี นมัส
– โอม มหาศักติ ปารวตี มาตา
– โอม ศรี มหาอุมาเทวี นะมะฮา
– โอม ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา เจ นะมะฮา
– โอม ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ
ทุติยัมปิ ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ
ตะติยัมปิ ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ
(คาถาบูชาทั้งพระแม่อุมา พระแม่กาลี พระแม่ทุรคา)
– โอม โรคานา เศษานะปะฮัมสิดุษฎา
รุษตาตุกะมาน สะกะลานาภีษะตาน
ตวามา ศะริตานาม นาวิปันนรานาม
ตวามา ศะริตาฮาทยา ศรยาตาม ประยานติ ฯ
ขบวนแห่พระศรีมหาอุมาเทวี ปี 55 (วัดแขกสีลม)